Menu
Woocommerce Menu

เรียนรู้กติกา อเมริกันฟุตบอล NFL

0 Comment


สำหรับการแข่งขัน ศึกคนชนคน  “อเมริกันฟุตบอล เอ็นเอฟแอล” NFL สำหรับแฟนกีฬาอเมริกันฟุตบอลสมัยใหม่ อาจจะยังไม่เข้าใจนักกับกติกาต่างๆ ของกีฬาชนิดนี้ที่ค่อนข้างซับซ้อน ดังนั้นเราจงต้องเรียนรู้ กติกาอย่างละเอียดของ อเมริกันฟุตบอล เอ็นแอฟแอล เพื่อให้ทุกท่านได้รับชมสดๆ ผ่านทุกช่องทางได้อย่างเข้าใจ และมันส์ไปกับทุกจังหวะของเกม

ผู้เล่น (players)

1. แต่ละทีมต้องมีผู้เล่น 11 คนเท่านั้นในสนาม โดยสามารถสลับเปลี่ยนผู้เล่นได้ ตามแต่ลถานการณ์ ซึ่งแต่ละทีมใน เอ็นเอฟแอล จะมีผู้เล่นในทีม 53 คน และจะแบ่งออกเป็น ทีมรุก (offensive team) ทีมรับ (defensive team) และ ทีมพิเศษ (special team)
2. ผู้เล่นสำรองไม่จำกัด แต่ห้ามเข้าเขตสนามระหว่างที่บอลเป็น

ผู้เล่นตำแหน่งต่างๆ

ทีมรุก (Offense)

– ออฟเฟนซ์ซีฟไลน์ (offensive line) (OL) มีผู้เล่น 5 คน โดยเป็น ออฟเฟนซ์ซีฟแทกเกิล (offensive tackle) (OT) 2 คน, การ์ด (guard) (G) 2 คน และ เซนเตอร์ (center) (C) 1 คน หน้าที่หลักๆ ของ ออฟเฟนซ์ซีฟไลน์ คือ ป้องกันผู้ขว้างบอล และ ทะลวงเปิดทางให้กับผู้เล่นวิ่งพาบอล การเริ่มเล่นจะเริ่มจากผุ้เล่นตำแหน่งเซนเตอร์ สแนปลูกบอล ส่งผ่านใต้หว่างขาของตนให้กับเพื่อนร่วมทีม ซึ่งปกติแล้วจะเป็นผุ้เล่นตำแหน่งควอเตอร์แบค

– ควอเตอร์แบค (quarterback) (QB) จะเป็นผู้ที่ได้รับลูกบอลในเกือบทุกการเล่น หลังจากนั้นก็จะส่ง หรือ โยนลูกบอลต่อให้กับผู้เล่น รันนิ่งแบค (running back) หรือขว้างให้กับผู้เล่นตำแหน่งที่อนุญาตให้รับบอลได้ หรืออาจวิ่งพาลูกไปเองก็ได้

– รันนิ่งแบค (running back) (RB) อาจเรียก ฮาร์ฟแบค (halfback) หรือ เทลแบค (tailback) และ ฟุลแบค (fullback) (FB) จะจัดตำแหน่งก่อนเล่นอยู่ข้างหลัง หรือ ข้างๆ QB และ มีหน้าที่ในการวิ่งพาบอล (โดยเฉพาะ RB) หรือทำการสกัดผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม (โดยเฉพาะ FB) รับลูกบอลที่ขว้างมาให้ หรือ แม้แต่ทำการขว้างบอลไปให้เพื่อนร่วมทีม

– ไวด์รีซีฟเวอร์ (wide receiver) (WR) จะเรียงตัวอยู่ใกล้เส้นข้างสนาม มีหน้าที่ในการรับลูกบอลที่ขว้างมา

– ไทท์เอนด์ (tight end) (TE) จะวางตัวอยู่ในตำแหน่งนอกออฟเฟนซ์ซีฟไลน์ เล่นได้เหมือน ทั้ง WR โดยการรับลูกที่ขว้างมา และ OL โดยการป้องกัน QB หรือ ทะลวงทางวิ่งให้กับผู้เล่นวิ่งพาบอล

ทีมรับ (Defense)

– ดีเฟนซ์ซีฟไลน์ (defensive line) (DL) ประกอบด้วยผู้เล่น 3 ถึง 5 คน โดยที่เป็น ดีเฟนซ์ซีฟเอนด์ (defensive end) 2 คน ดีเฟนซ์ซีฟแทกเกิล (defensive tackle) (DT) 1-2 คน และ อาจมี โนสแทกเกิล (nose tackle) (NT) 1 คน เรียงตัวตรงข้ามกับออฟเฟนซ์ซีฟไลน์ มีหน้าที่ในการแทกเกิลสกัดรันนิ่งแบคในการวิ่งกินระยะ หรือ แทกเกิลควอเตอร์แบคก่อนทำการขว้างบอล

– ผู้เล่นอย่างต่ำ 4 คนจะเรียงตัวในตำแหน่ง ดีเฟนซ์ซีฟแบค (defensive back) (DB) ซึ่งประกอบด้วยผู้เล่นในตำแหน่ง คอร์เนอร์แบค (cornerback) (CB), ฟรีเซฟตี (free safety) (FS) และ สตรองเซฟตี (strong safety) (SS) มีหน้าที่ป้องกันผู้เล่นรับลูกฝ่ายรุก ในการรับลูกบอล และ บางครั้งก็อาจทำการจู่โจมเข้าหาควอเตอร์แบค

– ผู้เล่นอื่นในทีมรับเรียก ไลน์แบคเกอร์ (linebacker) (LB) เรียงตัวอยู่ระหว่าง DL และ DB ทำหน้าที่หลายอย่าง โดยอาจจู่โจมเข้าหาควอเตอร์แบค ป้องกันผู้เล่นรับลูก หรือ สกัดผู้เล่นวิ่งพาลูก

ทีมพิเศษ (Special teams)

กลุ่มของผู้เล่นที่มีหน้าที่ในเกี่ยวกับการเตะทั้งหลาย เรียกว่า ทีมพิเศษ หรือ สเปเชียลทีม (special teams) ผู้เล่นในทีมพิเศษนี้จะมี พันท์เตอร์ (punter) (P) ซึ่งเป็นผู้เตะทิ้ง โดยเป็นการถือลูกเตะ และ คิกเกอร์ (kicker) หรืออาจเรียก เพลซคิกเกอร์ (placekicker) (K หรือ PK) เป็นผู้เตะเปลี่ยน และ ผู้เตะประตู ซึ่งเป็นการเตะลูกบอลจากการวางบนพื้นสนาม โดยวางบนอุปกรณ์ตั้งลูก และ การจับวางโดยเพื่อนร่วมทีม ตามลำดับ

เวลาการแข่งขัน

ระยะเวลาการแข่งขันแบ่งเป็น 2 ครึ่ง แต่ละครึ่งแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงละ 15 นาที เรียก ควอเตอร์ (quarter) รวมเป็นเวลาแข่งขัน 60 นาที และ มีช่วงเวลาพักครึ่งระหว่าง ควอเตอร์ที่ 2 และ ควอเตอร์ที่ 3 เป็นเวลา 10 นาที ทว่าในการเล่นแต่ละครั้งอาจจะมีการหยุดเวลาหลังการเล่นเมื่อลูกตาย

ในการแข่งขันเอ็นเอฟแอล หากมีคะแนนเสมอกันหลังจบเวลาการแข่งขันปกติ จะมีการต่อเวลาการแข่งขันออกไปอีก 15 นาที การตัดสินว่าทีมใดจะครองลูกครั้งแรกใช้การเสี่ยงเหรียญทาย ทีมแรกที่สามารถทำคะแนนได้จะเป็นฝ่ายชนะทันที แต่ถ้าหากไม่มีทีมใดทำคะแนนได้ใน 15 นาทีนี้ ถ้าเป็นการแข่งขันในฤดูกาลปกติการแข่งขันนัดนั้นจะตัดสินผลเป็นเสมอกัน แต่ถ้าหากเป็นการแข่งขันเพลย์ออฟ จะต่อเวลาไปอีกครั้งละ 15 นาที จนกว่าจะมีทีมใดทีมหนึ่งทำคะแนนได้

การขอเวลานอก (overtime)

แต่ละทีมมีสิทธิ์ขอเวลานอกได้ครึ่งละสามครั้ง ครั้งๆ ละ 1.50 นาที โดยการขอเวลานอกทำโดยการส่งสัญญาณมือให้ผู้ตัดสินทราบ การขอเวลานอกกระทำได้ทั้งโดยหัวหน้าผู้ฝึกสอนหรือผู้เล่นในสนาม หากใช้ไม่หมดจะไม่สามารถนำไปทบรวมกับครึ่งหลังได้ และ ห้ามไม่ให้ขอเวลานอกในช่วง 2 นาทีสุดท้ายของควอเตอร์ที่ 2 และ 4

นอกจากเวลานอกของแต่ละทีมแล้วกรรมการจะให้เวลานอกอีก 2 ครั้งโดยอัตโนมัติที่เวลา 2 นาทีสุดท้ายของควอเตอร์ที่ 2 และ 4 โดยมีกำหนดเวลา 1.50 นาที

การเริ่มเล่น หรือ คิกออฟ (kickoffs)

การเล่นเริ่มต้นด้วยการเสี่ยงโยนเหรียญเพื่อเลือกว่าฝ่ายใดจะได้ครองบอล (possession) เป็นฝ่ายบุก (offense ) ก่อน, และเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายส่งผู้เล่นลงสนามแล้ว ทีมพิเศษฝ่ายรับ (defensive special team) จะเปิดเกมส์ด้วยการเตะเปิด (kick off) ส่งบอลให้ ทีมพิเศษฝ่ายบุก (offensive special team) ได้รับบอลและเริ่มการบุก

– ถ้าทีมพิเศษฝ่ายรับเตะบอลเข้าไปใน เขตเอนด์โซน(end zone) ของฝ่ายบุก (offense) และไม่มีผู้รับบอลได้หรือเตะเลยเอนด์โซนออกไปทางด้านหลัง ทีมบุกจะได้สิทธิ์ออกมาเริ่มต้นการเล่นที่เส้น 20 หลาในแดนตัวเอง,

– ถ้าทีมพิเศษฝ่ายบุกรับบอลแล้วมีการวิ่งพาบอลเพื่อทำระยะ ทีมพิเศษฝ่ายรับสามารถเข้าหยุดยั้งด้วยการแทคเกิล(tackle) ซึ่งหากสามารถทำแทคเกิลได้ที่ระยะใดทีมบุกจะต้องลงมาเริ่มต้นเล่นที่จุดนั้น

ตำแหน่งของการวางบอลที่เกิดจากการแทคเกิลจะใช้ตำแหน่งของบอลในขณะที่ถูกแทคเกิลและเป็นผล

การทำคะแนน

1. ทัชดาวน์ (touchdown)
คือการที่ทีมบุกสามารถพาบอลเข้าไปยังเอนด์โซน(end zone) ของฝ่ายตรงข้ามได้ไม่ว่าจะเกิดจากการขว้างหรือการวิ่งโดยไม่จำเป็นต้องมีการวางหรือกดบอลลงแตะพื้น, คะแนนจากการทำทัชดาวน์คือ 6 คะแนน และหลังจากทำทัชดาวน์ได้ทีมบุกยังมีโอกาสในการเลือกทำคะแนนพิเศษหลังทัชดาวน์ (extra point) ได้อีก 2 แบบตามรายละเอียดในข้อถัดไป

2. คะแนนพิเศษหลังทัชดาวน์
– แบบ 1 คะแนน : คือการนำบอลมาตั้งเตะที่เส้นระยะใดใดตั้งแต่ 2 หลาขึ้นไปให้เข้าในบริเวณระหว่างเสาประตู, ถ้าเตะเข้าจะได้อีก 1 คะแนน
– แบบ 2 คะแนน : คือการนำบอลมาเล่นอีก 1 ดาวน์ที่เส้นระยะใดใดตั้งแต่ 2 หลาขึ้นไปเพื่อทำทัชดาวน์อีกครั้งหนึ่งหากทำได้จะได้อีก 2 คะแนน (two point conversion)

3. การเตะทำประตู (field-goal)
ในกรณีที่ไม่สามารถบุกได้ระยะ หรือต้องการทำคะแนนอย่างรวดเร็ว ทีมบุกสามารถใช้การเล่นในดาวน์ใดก็ได้มาตั้งบอล ณ จุดวางบอลเพื่อเตะให้เข้าประตู โดยจะนับเป็น 1 การเล่นหรือ 1 ดาวน์, หากเตะเข้าจะได้ 3 คะแนน

4. คะแนนเซฟตี้ (safety)
เป็นคะแนนที่ทีมรับสามารถทำได้จากการหยุดทีมบุกได้ในเอนด์โซนของทีมบุกด้วยการกระทำแทคเกิล ซึ่งทีมรับจะได้ 2 คะแนน และหลังจากนั้นทีมรับจะต้องเตะเปลี่ยนการครองบอล(kick off)

การบุก
ทีมบุกจะได้สิทธิ์การเล่นเป็นชุด (set of play) ในแต่ละชุดทีมบุกจะมีโอกาสในการเล่น สูงสุดไม่เกิน 4 ครั้ง (4 downs) โดยจะต้องพยายามทำระยะในการบุกให้ได้ มากกว่าหรือเท่ากับ 10 หลาต่อการบุกหนึ่งชุด,

– ถ้าสามารถทำระยะได้ไม่ว่าจะเป็นการเล่นในดาวน์ที่เท่าไหร่ก็ตาม การเล่นครั้งต่อไปจะถูกนับเป็นการเล่นในชุดใหม่ทันที(first down conversion),
– ถ้าไม่สามารถทำระยะได้ภายในดาวน์ที่ 4 ทีมบุกจะเสียการครองบอล(possession)ทันที และทีมบุกฝ่ายตรงข้ามจะได้สิทธิ์ในการเริ่มเล่น ณ จุดที่เสียการครองบอลแทน

* ทีมบุกสามารถเลือกที่จะใช้ดาวน์ที่ 4 ในการ เตะกินแดน (punt kick) แทนการเล่น เพื่อสละการครองบอลไปให้ฝ่ายตรงข้ามได้

การเปลี่ยนการครองบอล

การเปลี่ยนการครองบอล (possession change) สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยสาเหตุดังนี้

1 ทีมบุกเปลี่ยนจากการเล่นในดาวน์ใดใดมาเป็นการเตะกินแดนเพื่อสละการครองบอลให้ฝ่ายตรงข้ามได้รับบอลและวิ่งย้อนทำระยะ
2 ทีมบุกเสียการครองบอลจากการที่ถูกทีมรับดักบอล (intercept) หรือยึดจับบอลได้จากการทำบอลหลุดและบอลยังไม่ตาย (fumble)
3 ทีมบุกเตะเปลี่ยนการครองบอล (kick off) ให้ทีมรับหลังจากการทำคะแนนแล้ว

การขว้างบอล

กฏการขว้างบอลขึ้นหน้า

1. ผู้ที่สามารถรับบอลที่ถูกขว้างขึ้นหน้าได้ต้องเป็นผู้เล่นในตำแหน่งที่มีสิทธิ์รับบอลเท่านั้น ได้แก่ ผู้เล่นทีมรับทุกคน, ผู้เล่นทีมบุกที่ไม่ได้จรดในตำแหน่ง Center, Guard, Tackle
2. ผู้เล่นทีมบุกสามารถขว้างบอลขึ้นหน้าได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้นต่อการเล่น 1 ดาวน์ (ทำผิดเสีย 5 หลา)
3. ผู้ที่จะทำการขว้างขึ้นหน้าต้องขว้างจากหลังแนววางบอลเท่านั้น (ทำผิดเสียดาวน์และ 5 หลา)
4. หากผู้เล่นทีมบุกที่สามารถรับบอลได้ถูกบอลที่ขว้างแล้ว (รับหรือสัมผัส) ผู้เล่นทีมบุกคนอื่นๆ จะกลายเป็นผู้เล่นที่มีสิทธิ์รับบอลได้ทันที
5. การขว้างบอลขึ้นหน้าให้แก่ผู้เล่นที่ไม่มีสิทธิ์รับนั้น, ถ้าถูกบอลโดยไม่เจตนาหลังแนววางบอล จะเสีย 5 หลา, ถ้าถูกบอลเหนือแนววางบอลไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่จะเสีย 5 หลา
6. การขว้างบอลขึ้นหน้าจะไม่สำเร็จ (incomplete) และบอลตายเมื่อ
– ขว้างบอลออกนอกสนามหรือขว้างลงพื้น
– ขว้างบอลโดนเสาประตูหรือคานประตู
7. การรับบอลที่ขว้างขึ้นหน้าจะสำเร็จ (complete) ก็ต่อเมื่อผู้รับบอลสามารถครองบอลได้อย่างชัดเจนและสามารถวางเท้าทั้ง 2 ข้างลงในเขตสนามได้ในขณะที่มีการครองบอล
8. ในการเล่นดาวน์ที่ 4 หากการขว้างบอลไม่สำเร็จ ทีมบุกจะเสียดาวน์ที่ตำแหน่งแนววางบอล
9. ถ้ามีการทำฟาวล์บุคคล (personal foul) โดยผู้เล่นทีมรับก่อนที่จะการขว้างจะสำเร็จ, ทีมรับเสีย 15 หลา
10. ถ้ามีการทำฟาวล์บุคคล (personal foul) โดยผู้เล่นทีมบุกก่อนที่จะการขว้างจะสำเร็จ, ทีมบุกเสีย 15 หลา
11. ถ้ามีการทำฟาวล์รบกวนการรับบอล โดยผู้เล่นทีมรับต่อผู้เล่นทีมบุกที่จะรับบอล, ทีมรับเสียระยะโดยทีมบุกจะได้เริ่มเล่นดาวน์ที่ 1 ที่จุดทำฟาวล์

การเตะทิ้ง หรือ พันท์ (punt)
ถ้าทีมรุกไม่สามารถกลับไปเริ่มดาวน์ที่หนึ่งได้หลังจากเล่น 3 ครั้งแล้ว คือ เปลี่ยนเป็นดาวน์ที่ 1 ไม่ได้ภายใน 3 ครั้ง ส่วนมากดาวน์ที่ 4 ทีมที่ได้บุกจะไม่เล่นต่อ แต่จะให้ทีมพิเศษของผ่ายตนเองลงมาพั้นท์เพื่อกินระยะ แล้วเปลี่ยนให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นฝ่ายบุกแทน เนื่องจากถ้าเล่นครบ 4 ดาวน์แล้วยังไม่สามารถบุกได้ระยะ 10 หลา จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามสามารถเริ่มบุกจากจุดสุดท้ายที่ลูกตาย ดังนั้นเลยต้องพั้นทิ้ง เพื่อเอาระยะและให้ฝ่ายตรงข้ามเริ่มบุกให้ห่างจากระยะ endzone ของฝ่ายตัวเอง

ส่วนในการรับลูกพันท์แล้ววิ่งย้อนนั้นสามารถทำได้เหมือนกับการรับลูก kick off แต่จะมีกฎพิเศษก็คือ เมื่อทีมพิเศษรับลูกหรือแตะถูกลูก จะทำให้การเล่นเพลย์นั้นเป็นฟรีเพลย์ กล่าวคือ การเล่นครั้งนั้นถ้าการเล่นสิ้นสุดลงทีมไหนครอบครองลูกได้ก็จะได้เป็นฝ่ายบุกทันที ยกตัวอย่าง เช่น ทีมเอพันท์ไปให้ทีมบี แล้วทีมบีรับลูกวิ่งย้อนคืนมาแล้วเกิดฟัมเบิ้ล (fumble) แล้วทีมเอเก็บลูกได้ ทีมเอก็จะได้บุกต่อทันที ณ ตำแหน่งที่ลูกตาย

ในการรับลูก พันท์นั้น เราจะเห็นตัวรับลูกวิ่งย้อนชูมือแล้วโบกไปมาบ่อยๆ มันก็คือการเรียกแฟร์แคท ในการเรียกแฟร์แคท หมายถึง การที่ตัวรับลูกวิ่งย้อนเมื่อรับลูก แล้ว จะไม่สามารถวิ่งต่อเพื่อเพิ่มระยะได้ แต่จะได้สิทธิพิเศษก็คือ รับพิเศษของฝ่ายพันท์จะไม่มีสิทธิเข้ามาแท๊คเกิลได้โดยเด็ดขาด

เกี่ยวกับสนาม
1. เส้นข้างและเส้นหลัง ถือเป็นนอกสนาม
2. เส้นประตูถือเป็นเขตประตู
3. ริมสนามมีขอบสนามสีขาวกว้าง 6 ฟุตตลอดเส้นข้าง, ถือเป็นนอกสนาม
4. เส้นระยะยาว 70 หลา กว้าง 9 นิ้ว
5. เสาประตูต้องเป็นแบบมาตรฐานเท่านั้น เสาสูง 18 ฟุตขนาด 6 นิ้ว คานส่วนบนสูงจากพื้น 10 ฟุตเสา 2 ข้างที่อยู่เหนือคานจะต้องสูงอย่างน้อย 30 ฟุต และต้องมีผ้าขนาด 4×42 นิ้วผูกอยู่ปลายเสา
6. สนามยาว 360 ฟุตกว้าง 160 ฟุต, เขตประตูลึก 30 ฟุต
7. สนามต้องใช้ตัวบอกระยะมาตรฐานวางด้านข้างสนามตรงตำแหน่งเส้นระยะ

การทำผิดกติกา

อเมริกันฟุตบอลเป็นการแข่งขันที่มีกติกาละเอียด ทำให้มีการทำผิดกติกาขึ้นบ่อยครั้งระหว่างการแข่งขัน เมื่อมีการทำผิดกติกาเกิดขึ้นผู้ตัดสินจะโยนธงสีเหลืองลงมาบนพื้นสนาม หรือเป่านกหวีดถ้าการทำผิดกติกาเกิดขึ้นก่อนการเริ่มเล่นแต่ละดาวน์ เมื่อการเล่นหยุดลง หัวหน้าผู้ตัดสินจะใช้เครื่องขยายเสียงประกาศให้ผู้เล่นและผู้ชมทราบว่ามีการทำผิดกติกาใดเกิดขึ้นพร้อมทั้งประกาศการลงโทษ

สรุปการทำโทษ

ได้ดาวน์ที่ 1 ทันที

เป็นการทำโทษทีมรับที่ทำฟาวล์ด้วยสาเหตุดังนี้
– ล้ำหน้า
– Encroachment
– ใช้เวลาเกิน
– สับตำแหน่งผิด
– ใช้เวลานอกเกิน
– การเหนี่ยวจับเครื่องป้องกันหน้า
– ล้ำเข้าเขตว่าง (neutral zone)
– วิ่งเข้าใส่ถูกตัวเตะ
– มีผู้เล่นเกิน 11 คนในสนาม

เสียระยะ 5 หลา

1. ผู้เล่นทีมรับดึง (holding) หรือใช้มือผิดกติกา (illegal use of hands) (ได้ดาวน์ที่ 1)
2. ทีมบุกและทีมรับใช้เวลาเกิน
3. การเตะเปิด (kickoff) ใช้เวลาเกิน
4. Encroachment
5. ใช้เวลานอกเกิน
6. เริ่มต้นเล่นผิดกติกา, ขยับตัวผิดกติกา
7. การจัดตั้งผิด
8. สลับตำแหน่งผิด
9. การเตะเปิดครั้งแรกออกนอกกรอบของเส้นประตูโดยไม่มีผู้รับได้
10. ให้สัญญาณรับหยุด (fair catch) ผิด
11. มีผู้เล่นในสนามเกิน 11 คน
12. มีผู้เล่นที่จรดเป็นแนวน้อยกว่า 7 คน
13. ล้ำหน้า
14. วิ่งเข้าใส่ถูกตัวเตะ
15. แนวมีการขยับตัว
16. ผู้เล่นออกนอกสนามเมื่อดึงบอลขึ้นเล่น (at snap)
17. มีผู้เล่นทีมเตะที่ไม่ใช่แนวเข้าไปยังแนวตะลุมบอนก่อนบอลจะถูกเตะ
18. การล้ำเข้าไปในเขตว่าง (neutral zone)
19. ขว้างบอลขึ้นหน้าเกิน 1 ครั้ง
20. ผู้เล่นที่ออกนอกสนามไปแล้วกลับมารับบอลที่ขว้าง
21. ผู้เล่นรับบอลที่ขว้างขึ้นหน้า (forward pass) ที่หลังแนววางบอล
22. ขว้างบอลขึ้นหน้าเมื่ออยู่เหนือแนววางบอลแล้ว
23. ผู้เล่นทีมเตะออกนอกสนามอย่างจงใจระหว่างเตะกินแดน (punt)
24. ในการประชุมแผนมีคนมากกว่า 11 คน

เสียระยะ 10 หลา

1. ทีมบุกขว้างบอลรบกวน
2. ทีมบุกดึง (holding), ใช้มือ แขน ขาผิดกติกา (illegal use of hands arms legs)
3. กันผิดกติกา (illegal block)

เสียระยะ 15 หลา

1. การกันแบบตัดขา (chop block)
2. การโอบรัดเอว
3. รบกวนการรับหยุด (fair catch)
4. การกระแทกเพื่อกันจากด้านหลัง
5. การเล่นไม่สุภาพ, หยาบคาย
6. การบิด หมุน ดึงเครื่องป้องกันหน้า
7. เล่นไม่มีน้ำใจนักกีฬา (unsportmanlike)
8. ใช้เวลาเกินในการเริ่มต้นเล่นของแต่ละครึ่ง
9. การกันที่ต่ำแบบผิดกติกา
10. ใช้หมวกพุ่งชนอย่างแรงโดยไม่ใช่เหตุสุดวิสัย
11. การงัด (leverage)
12. ถอดหมวกขณะอยู่ในสนาม
13. หัวเราะเยาะเย้ย, ใช้กริยาวาจาสบประมาท

เสียระยะ 5 หลาและเสียดาวน์

1. ขว้างขึ้นหน้าเมื่ออยู่เหนือแนววางบอล

เสียระยะ 10 หลาและเสียดาวน์

1. ขว้างบอลทิ้งโดยเจตนา (นับเป็น safty ถ้าผู้ขว้างอยู่ในเขต เอนด์โซนของทีมตัวเอง) และถ้าการฟาวล์เกิดขึ้นหลังแนวมากกว่า 10 หลา จะต้องเสียดาวน์และเริ่มเล่น ณ จุดที่เกิดการฟาวล์

เสียระยะ 15 หลาและเสียสิทธิ์การเสี่ยงทอยเหรียญ

1. ทีมมาถึงสนามแข่งสาย
2. กัปตันทีมไม่สามารถเสี่ยงทอยเหรียญได้

การท้าทายคำตัดสินของกรรมการ

ในการแข่งขัน เอ็นเอฟแอล เมื่อหัวหน้าผู้ฝึกสอนของทีมใดทีมหนึ่งไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของผู้ตัดสิน สามารถร้องขอให้มีการดูภาพซ้ำ(instant replay) โดยการขว้างธงสีแดงลงไปในสนาม หัวหน้าผู้ตัดสินจะประกาศความไม่เห็นด้วยของหัวหน้าผู้ฝึกสอนให้ผู้ชมทราบ และเข้าไปดูการฉายภาพซ้ำจากมุมกล้องต่างๆที่ถูกบันทึกไว้บริเวณข้างสนาม หลังจากหัวหน้าผู้ตัดสินดูภาพซ้ำจะออกมาประกาศคำตัดสินอีกครั้ง โดยอาจจะเปลี่ยนแปลงคำตัดสินหรือยืนยันคำตัดสินเดิมพร้อมกับประกาศเหตุผลของการให้คำตัดสินนั้นๆ