Menu
Woocommerce Menu

ทีมอเมริกันฟุตบอล ที่บริหารโดยประชาชน และไม่มุ่งแสวงหากำไร

0 Comment


กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส ชื่อนี้เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี สำหรับแฟนกีฬาอเมริกันฟุตบอล ในฐานะทีมระดับตำนานของลีก NFL เจ้าของแชมป์ซูเปอร์โบวล์ 4 สมัย และแชมป์ NFLอีก 11 สมัย รวมถึงเป็นทีมที่สร้างทั้งโค้ช กับผู้เล่น ระดับตำนานอีกมากมาย ขึ้นมาประดับวงการเกมคนชนคน

แต่สิ่งที่หลายคนไม่รู้ คือ กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส เป็นทีมกีฬาเพียงทีมเดียว จาก 5 ลีกกีฬายักษ์ใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกา (NFL, NBA, MLB, NHL, MLS) ที่ถือครองโดยองค์กรไม่แสวงผลกำไร ซึ่งถูกก่อตั้งโดยแฟนกีฬาของทีม 

ในขณะที่โลกกีฬาอเมริกันเกมส์ เต็มไปด้วยเรื่องของผลประโยชน์ ด้านธุรกิจ ตามแบบฉบับทุนนิยม กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส ยังคงยืนหยัด แสดงจุดยืนความเชื่อตั้งแต่ในอดีตว่า กีฬาต้องถูกสร้างเพื่อแฟนกีฬา ไม่ใช่ให้นักธุรกิจเข้ามากอบโกยกำไรจากทีม 

นี่คือเรื่องราวของทีมที่ยิ่งใหญ่ จากเมืองขนาดเล็กในสหรัฐอเมริกา ที่เติบโตและยืนหยัดด้วยพลังของประชาชน

บริษัทส่งของ / วิกฤติการเงิน / ความช่วยเหลือจากท้องถิ่น

กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส คือทีมอเมริกันฟุตบอล จากเมืองกรีนเบย์ รัฐวิสคอนซิน ทางตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา มีประชาชนอาศัยอยู่เพียง 1 แสนคน แม้จะมีประชาชนไม่มาก เหมือนเมืองใหญ่ๆ แต่ผู้คนที่กรีนเบย์ หลงรักกีฬาฟุตบอลไม่แพ้ผู้คนจากเมืองอื่น

ทีมอเมริกันฟุตบอลกรีนเบย์ ถูกก่อตั้งโดยกลุ่มนักกีฬาท้องถิ่น ที่หลงในเกมกีฬานี้ เมื่อปี 1919 นำโดย เคอร์ลี แลมโบ หนุ่มวัย 21 ปี ที่เป็นทั้งผู้เล่น และโค้ชให้กับทีมน้องใหม่

อย่างไรก็ตาม ทีมกรีนเบย์ที่ก่อตั้งโดยนักกีฬาคนหนุ่ม ที่อยากเล่นให้กับทีมบ้านเกิดของตัวเอง ขาดงบประมาณที่จะนำมาใช้ซื้ออุปกรณ์ และเสื้อผ้า สำหรับการแข่งขัน รวมถึงการฝึกซ้อม ทำให้ทีมประกาศหาผู้สนับสนุน 

ก่อนจะได้บริษัท อินเดียน แพ็คกิง (Indian Packing Company) บริษัทส่งพัสดุประจำเมือง เข้ามาเป็นผู้สนับสนุน เนื่องจากแลมโบ ทำงานเป็นคนจัดการ และแยกพัสดุให้กับบริษัท เขาจึงเข้าไปขอร้องประธานของอินเดียน แพ็คกิง ให้เข้ามาสนับสนุนทีม

สุดท้าย ทีมกรีนเบย์ จึงได้รับเงินมาหนึ่งก้อน เพื่อนำมาใช้ซื้อเสื้อผ้า และอุปกรณ์ ทำให้ทีมตัดสินใจตั้งชื่อว่า กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส เพื่อเป็นเกียรติให้กับบริษัท อินเดียน แพ็คกิง ที่ทำให้ทีมอเมริกันฟุตบอล อันเป็นความภูมิใจของชาวกรีนเบย์ เกิดขึ้นจริง

ปี 1921 กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส ได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมลีก NFL (ซึ่งเริ่มต้นเป็นฤดูกาลแรก) หลังจากใช้เวลา 2 ปีก่อนหน้านี้ เป็นทีมแข่งขันแบบไร้ลีกมาตลอด … อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ลีกอาชีพที่จริงจัง และมีความทะเยอทะยานสูง อย่าง NFL ทำให้สิ่งที่ตามมา คือค่าใช้จ่ายมหาศาล ที่บีบบังคับให้แพ็คเกอร์ส ต้องใช้เพื่อพัฒนาทีม ผลที่ตามมาคือทีมประสบปัญหาวิกฤติทางการเงิน ตั้งแต่ฤดูกาลแรกที่ลงแข่งขัน

หลังจากจบฤดูกาล 1922 กรีนเบย์เจอปัญหา กับการค้างค่าเหนื่อยผู้เล่นจำนวนมาก ที่ทีมดึงตัวมาเสริมความแข่งแกร่ง ขณะที่ NFL ขู่ว่า หากแก้ปัญหานี้ไม่ได้ ทีมจะเจอการลงโทษสถานหนัก นั่นคือการไล่ออกจากลีก

ภาระจึงตกมาอยู่ที่ เคอร์ลี แลมโบ อีกครั้ง เข้ารู้ดีว่าทีมในตอนนี้ แทบจะไม่มีทางรอด หากต้องพึ่งตัวเอง แต่เพื่อรักษาทีมเอาไว้ให้ได้ ดังนั้นเขาต้องหาความช่วยเหลือจากทางอื่น ทำให้แลมโบ เดินทางไปเข้าพบคนรวย และนักธุรกิจ ในรัฐวิสคอนซิน เพื่อระดมทุนมาสนับสนุนทีม

แลมโบ มาพร้อมกับไอเดียว่า เขาจะตั้งบริษัทหนึ่งขึ้นมา ในชื่อ กรีนเบย์ ฟุตบอล (Green Bay Football Corporation) เพื่อให้บริษัทนี้ มาบริหารทีมกรีนเบย์ และเพื่อจะก่อตั้งบริษัทนี้ เขาจึงมาขอเงินบริจาค จากผู้มีฐานะ และจะนำเงินจำนวนนี้ มาบริหารทีม โดยให้สัญญาว่า เงินทั้งหมดจะถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ของทีม ไม่ใช่การแสวงผลกำไร ดังนั้นหากใครคิดจะให้เงินสนับสนุน เพื่อหวังผลประโยชน์ตอบแทน มันจะไม่เกิดขึ้น

แม้การไปขอเงินจากนักธุรกิจ โดยไม่มีผลตอบแทนด้านธุรกิจ จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่แลมโบประสบความสำเร็จ ในการระดมทุน จนสามารถตั้งบริษัทขึ้นมาได้สำเร็จ นอกจากนี้ บริษัท กรีนเบย์ ฟุตบอล ยังขายหุ้นของบริษัท ในราคา 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2,200 บาทไทย ในปัจจุบัน) เพื่อระดมทุนเข้าสู่ทีม และเปิดโอกาสให้แฟน มีโอกาสเป็นเจ้าของ และมีส่วนในการตัดสินใจของสโมสร

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเรื่องราวหลังจากนี้จะสวยหรู เพราะไม่กี่ปีถัดมา สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญหน้า กับวิกฤติทางการเงินครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในช่วงปี 1929-1933 ซึ่งทีมกรีนเบย์ ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติทางการเงิน อย่างหนักด้วยเช่นกัน 

เนื่องจากทีมบริหารแบบไม่หวังผลกำไร ใช้เงินแบบตามมีตามเกิด และต้องพึ่งการสนับสนุน จากธุรกิจหรือบุคคลท้องถิ่น เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ คนในรัฐวิสคอนซิน เจอปัญหาด้านการเงิน ทีมแพ็คเกอร์สจึงเจอปัญหานี้ตามไปด้วย

หลายทีมอเมริกันฟุตบอล ต้องปิดฉากลง จากภาวะวิกฤติครั้งนี้ หรือหลายทีม ต้องย้ายแฟรนไชส์ ไปอยู่กับเมืองอื่น เพื่อให้ทีมมีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้น … แต่กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส ไม่ต้องการให้ทีมฟุตบอลอันเป็นที่รัก ทีมที่มีคนท้องถิ่น ร่วมกันถือหุ้นเป็นเจ้าของทีม ต้องลาจากไป พวกเขาจึงพยายามหาวิธีการต่างๆ เพื่อให้ทีมผ่านพ้นวิกฤติทางการเงินไปให้ได้

แน่นอนว่า มีบริษัทหลายบริษัท ต้องการเข้ามาซื้อสิทธิ์ของแฟรนไชส์ แต่แพ็คเกอร์สปฏิเสธ และเลือกใช้วิธีการขายหุ้น เพื่อระดมทุนเข้าสู่ทีมเช่นเดิม สุดท้ายในปี 1935 ทีมสามารถหาวิธีได้สำเร็จ ด้วยการประกาศขายหุ้นของทีมอีกครั้ง ในราคา 25 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 14,000 บาทไทย ในปัจจุบัน)